พระกรณียกิจสำคัญ ของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

พระราชชายาฯ มีพระกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์ต่อล้านนาและสยาม พอสังเขป ดังนี้

ทรงดำรงพระองค์เป็นศูนย์รวมดวงใจของข้าราชบริพารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง พระราชชายาฯ ซึ่งทรงออกพระนามว่า "เจ้าป้า" ตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและประทับใจยิ่งนัก เวลาเห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ในที่ว่าราชการ ท่ามกลางข้าราชการฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จากที่เคยเห็นท่านดำรงพระองค์เรียบง่ายสงบคำเวลาประทับอยู่ในวังหลวง แต่ในที่นั่น พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าราชการอย่างฉะฉาน เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายเหนือก็ตรัสเป็นภาษาเหนือ เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายใต้ก็ตรัสเป็นภาษาใต้ รับสั่งกลับไปกลับมาอย่างคล่องแคล่วยิ่งนัก เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของข้าราชการทุกหมู่เหล่าอย่างยิ่ง" นอกจากนั้น ยังทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ฉันเคยพูดกับพวกฝรั่ง เขาว่านะว่า เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นจะทรงฉลาดซักเท่าไร เห็นจะมีแต่ พริ้นเซสออฟเชียงใหม่ ซึ่งหมายถึง พระราชชายาฯ นี่นะสิ ทรงฉลาดเหลือเกิน"

ทรงฟื้นฟูศิลปะด้านการแสดงล้านนา

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีพื้นเมือง และศิลปะการแสดงพื้นเมืองนั้น ด้วยมีพระนิสัยโปรดเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่ง วงดนตรีไทยประจำพระตำหนักของพระราชชายา นั้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วฝ่ายใน เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่ โปรดให้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนรำ การดนตรีพื้นเมืองทั้งหมด โปรดให้รวบรวมศิลปินล้านนาเก่าแก่มาเป็นบรมครูผู้ประสาทวิชาเพื่อสนับสนุนให้ความรู้แก่พระญาติและประชาชน รวมทั้งโปรดให้จัดการฝึกสอนขึ้นในพระตำหนัก พระญาติของพระองค์ต่อมาได้มีบทบาทในการสานต่อพระปณิธานดังกล่าว อาทิเช่น เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ และเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ผู้สืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีและการเล่นดนตรีพื้นเมือง และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์

ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า

ทรงฟื้นฟูและส่งเสริมกิจการทอผ้าซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาช้านานในล้านนา ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้ายก ผ้าซิ่นตีนจก และฝึกสอนช่างทอ โดยสร้างโรงทอผ้าที่หลังตำหนักของพระองค์ มีกี่ทอผ้าประมาณ 20 หลัง ภายหลังพระญาติจากนครลำพูนได้มาศึกษาการทอผ้าซิ่นยกดอก และนำไปฝึกหัดคนในคุ้มหลวงที่ลำพูนจนมีความชำนาญ และได้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน กิจการด้านการทอผ้าได้แพร่หลายไปสู่หมู่ประชาชน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของเชียงใหม่และลำพูนมาตราบจนปัจจุบัน

ทรงสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา

ทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์ และการศึกษาในโรงเรียนชายหญิงของนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินและทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยเฉพาะโรงเรียนดาราวิทยาลัยนั้นแต่เดิมเรียกว่าโรงเรียนสตรี ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโรงเรียนพระราชชายา และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตามพระนามของพระราชชายาฯ เมื่อ พ.ศ. 2452

ทรงสนับสนุนกิจการด้านพระศาสนา

นอกจากทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์แล้ว ทรงทำนุบำรุงศาสนา บูรณะวัดวาอารามต่างๆ มากมายทั่วนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์อันเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ถวายแก่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร นอกจากนั้น ได้ทรงรวบรวมพระอัฐิพระเจ้านครเชียงใหม่และแม่เจ้า มหาเทวีแต่ก่อนมาทุกพระองค์ กับทั้งอัฐิของพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งปวงซึ่งเป็นพระประยูรญาติของพระองค์ มาบรรจุรวมกันไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก (พระอารามหลวง)

ทรงส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ ทรงริเริ่มการปลูกลำไย

พระราชชายาฯ ได้โปรดให้ใช้พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม เป็นแปลงทดลองการเกษตรส่วนพระองค์ขนาดใหญ่ โปรดให้เจ้าชื่น สิโรรส พระญาติสายราชวงศ์ทิพย์จักร มาดูแลควบคุมพัฒนาการเกษตร ทรงริเริ่มส่งเสริมการปลูกใบยาสูบเวอร์จิเนีย ใบชา ใบหม่อน ดอกไม้เมืองหนาว และกล้วยไม้ ทั่วนครเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงทดลองปลูกพืชใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงทดลองปลูกกะหล่ำปลีสีม่วง แครอท แตงโมบางเบิด แคนตาลูป รวมทั้งลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระองค์ท่านก็ทรงนำมาปลูกเป็นพระองค์แรก ที่สำคัญ ทรงให้มีการศึกษาพัฒนาด้านการเกษตรอยู่เสมอ และทรงเน้นการให้ความรู้การเกษตรสมัยใหม่เข้าถึงประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง พระอัจฉริยะภาพและพระกรุณาธิคุณดังกล่าว ปรากฏให้เห็นถึงปัจจุบันที่ การปลูกใบชา ใบหม่อน กล้วยไม้ และลำไย กระจายอยู่ทั่วนครเชียงใหม่และเมืองใกล้เคียง ประชาชนต่างยึดถือเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือน

ประทานนามกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ถวายแด่พระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์"

พระราชชายาฯ ทรงเป็นเจ้านายสตรีชั้นนำของประเทศ ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มและสนับสนุนการปลูกกุหลาบทั่วนครเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียง ภายหลังทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ทำให้ทรงหวนระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงได้ประทานนามกุหลาบพันธ์นั้นตามพระนามในพระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์" พระราชชายาฯ โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์บน พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็โปรดให้ปลูกกุหลาบจุฬาลงกรณ์โดยรอบพระตำหนัก และทรงตัดดอกถวายสักการะพระบรมราชสวามี ซึ่งต่อมาภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบจุฬาลงกรณ์มาเพาะพันธุ์และโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าดารารัศมี พระราชชายา http://www.dailynews.co.th/Content/Article/271661/... http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/... http://www.globalgroup.in.th/encyclopedia_lanna.ht...